กระทรวงสาธารณสุข ทดสอบระบบการให้บริการฉีดวัคซีนโควดิ-19 ที่โรงพยาบาลราชวิถี ซึ่งประกอบไปด้วย 8 ขั้นตอน ใช้เวลารวมไม่เกิน 40 นาที ตั้งแต่กระบวนการคัดกรอง ยืนยันคุณสมบัติของผู้ได้รับการฉีดวัคซีน จนถึงการได้รับวัคซีน เพื่อให้ประชาชนมั่นใจในระบบบริการฉีดวัคซีน COVID-19 ที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย มีระบบการติดตามผล หลังการฉีดวัคซีน COVID-19 ด้วยช่องทาง Line Official Account “หมอพร้อม”
วันที่ 16 ก.พ.2564 ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า วัคซีนถือว่าเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูงในการควบคุมและป้องกันการระบาดของโรค ช่วยลดอาการป่วยรุนแรง และลดอัตราการเสียชีวิต จากการตรวจเยี่ยมการทดสอบระบบการให้บริการฉีดวัคซีน COVID-19 ของโรงพยาบาลราชวิถี ที่เป็นหนึ่งในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ของกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้มีการทดสอบระบบการฉีดวัคซีน COVID-19 เริ่มตั้งแต่ก่อนเข้ารับบริการจะมีการคัดกรองความเสี่ยง วัดไข้ ล้างมือด้วยแอลกอฮอล์เจล
ขั้นตอนที่ 1 เป็นการลงทะเบียน (ทำบัตร) เพื่อยืนยันตัวตน
ขั้นตอนที่ 2 ชั่งน้ำหนัก วัดความดันโลหิต
ขั้นตอนที่ 3 คัดกรอง ซักประวัติ และลงนามใบยินยอมการรับวัคซีน ขั้นตอนที่ 4
รอฉีดวัคซีน
ขั้นตอนที่ 5 เข้ารับการฉีดวัคซีน จากนั้น
ขั้นตอนที่ 6 จะให้ผู้ที่เข้ารับการฉีดวัคซีนทุกรายนั่งพักรอสังเกตอาการจนครบ 30 นาที โดยได้จัดให้มีพื้นที่ปฐมพยาบาล แพทย์ พยาบาล และอุปกรณ์ช่วยชีวิตสำหรับการดูแลผู้ที่อาจมีภาวะแทรกซ้อนจากการฉีดวัคซีน และมีการแนะนำวิธีการใช้ Line Official Account “หมอพร้อม” เพื่อติดตามอาการหลังการฉีดวัคซีน 1 วัน 7 วัน 30 วัน และรับการแจ้งเตือนเพื่อฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 รวมถึงผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีน COVID-19 ครบทั้ง 2 เข็ม จะได้รับใบยืนยันการฉีดวัคซีน COVID-19 ทาง Line Official Account “หมอพร้อม” อีกด้วย
ขั้นตอนที่ 7 จุดตรวจสอบก่อนกลับบ้าน เจ้าหน้าที่จะสอบถามอาการ ให้คำแนะนำ และออกใบนัดการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ขั้นตอนที่ 8 จะมีการแสดงผล Dash Board จาก Line Official Account “หมอพร้อม” แสดงการประเมินผลความครอบคลุมทุกกระบวนการการบริการ การติดตามอาการไม่พึงประสงค์ของวัคซีนที่เกิดขึ้น เพื่อให้ประชาชนมีความมั่นใจในความปลอดภัย และประสิทธิภาพของวัคซีนที่ได้รับ
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวต่อว่า ระบบบริการฉีดวัคซีน COVID-19 ของโรงพยาบาลราชวิถีเป็นแนวทางที่แต่ละโรงพยาบาลสามารถนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมตามบริบทของแต่ละที่ ซึ่งการให้บริการ ฉีดวัคซีน COVID-19 เป็นความร่วมมือระหว่างกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร โรงพยาบาลเอกชน Uhosnet โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงกลาโหม และโรงพยาบาลตำรวจ อย่างไรก็ตาม วัคซีน COVID-19 ที่จะมีการฉีดในครั้งนี้ได้กำหนดกลุ่มเป้าหมายสำหรับกลุ่มเสี่ยงในระยะแรก ได้แก่ 1.บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าทั้งภาครัฐและเอกชน 2.บุคคลที่มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคทางเดินหายใจเรื้อรังรุนแรง เช่น ปอดอุดกั้นเรื้อรัง และโรคหอบหืดที่ควบคุมได้ไม่ดี โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตเรื้อรังที่อยู่ระยะ 5 ขึ้นไป (ไตวายเรื้อรัง)โรคหลอดเลือดสมองโรคมะเร็งทุกชนิดที่อยู่ในระหว่างเคมีบำบัด รังสีบำบัดและภูมิคุ้มกันบำบัด โรคเบาหวาน และ โรคอ้วน ที่มีน้ำหนักมากกว่า 100 กิโลกรัม หรือ BMI มากกว่า 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร และ 3.เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรค COVID-19 ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย
สำหรับผลข้างเคียงหรือปฏิกิริยาภายหลังได้รับการฉีดวัคซีน มักมีอาการไม่รุนแรงและหายไปได้เองใน 1–2 วัน เช่น ปวด บวม แดง ร้อน คัน บริเวณที่ฉีด หรืออาจมีไข้ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ผื่น ไม่สบายตัว ปวดเมื่อยตามตัวเล็กน้อย อ่อนเพลีย เป็นต้น แต่ก็อาจเกิดผลข้างเคียงที่อาการรุนแรงได้ เช่น ไข้สูง หนาวสั่น อาเจียนรุนแรง แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก ใจสั่น หน้าบวม คอบวม บวมทั่วร่างกาย ผื่นลมพิษ ผื่นทั้งตัว ตุ่มน้ำพอง วิงเวียนอ่อนแรง ผิวหนังลอก ปวดข้อหรือปวดเมื่อยกล้ามเนื้อรุนแรง กล้ามเนื้อแขนขาอ่อนแรง หน้าเบี้ยว (มุมปากตก) ซึ่งผู้ที่มีอาการดังกล่าวควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที ทั้งนี้ โรงพยาบาลราชวิถี ได้เตรียมพร้อมสำหรับการให้บริการฉีดวัคซีน COVID-19 ตั้งแต่ มีนาคม 2564 เป็นต้นไป โดยจะเริ่มจากผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง และลงทะเบียนการฉีดวัคซีนผ่านทาง Line Official Account “หมอพร้อม” เป็นลำดับแรก อย่างไรก็ตามถึงจะได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว ประชาชนก็ยังคงต้องมีความระมัดระวัง สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างอยู่เสมอไม่เข้าไปในสถานที่เสี่ยง และสถานที่แออัดซึ่งจะช่วยลดโอกาสติดเชื้อได้มาก
อ้างอิง:
https://workpointtoday.com/covid1702/
10/05/2021
06/03/2021
22/04/2021
13/02/2021