พระธาตุหลวง เวียงจันทน์ (Pha That Luang) หรือ พระเจดีย์โลกะจุฬามณี เป็นศาสนสถานที่สำคัญที่สุดในลาว เป็นปูชนียสถานสำคัญมากๆ แห่งเวียงจันทน์ เรียกได้ว่าใครมาเวียงจันทน์แล้ว ไม่ได้มาไหว้พระธาตุหลวง แทบเรียกได้ว่า มาไม่ถึงเวียงจันทน์เลยทีเดียว เพราะตามประวัติศาสตร์ของลาวนั้น พระธาตุหลวงถูกสร้างขึ้นพร้อมๆ กับการสร้างเมืองเวียงจันทน์ โดย พระเจ้าจันทบุรีประสิทธิศักดิ์ เจ้าเหนือหัวผู้ครองนครเวียงจันทน์พระองค์แรกนั่นเอง พร้อมกับพระอรหันต์ 5 องค์ เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ อีกทั้งตามตำนานกล่าวว่าพระธาตุหลวงมีประวัติการก่อสร้างนับพันปีเช่นเดียวกันพระธาตุพนมในประเทศไทย องค์พระธาตุมีความสูง 45 เมตร รูปลักษณะคล้ายดอกบัวตูม อันหมายถึงสัญลักษณ์คำสอนของพระพุทธเจ้า รูปชั้นล่างสุดเป็นฐานพระธาตุ 4 เหลี่ยม ทางทิศตะวันออกและทิศตะวันตกยาวด้านละ 69 เมตร ด้านล่างมีใบเสมารอบ 4 ด้าน มีทั้งหมด 323 ใบ มีหอไหว้ทั้ง 4 ด้าน มีบันไดขึ้นหอไหว้ทุกหอ นอกบริเวณทางทิศเหนือ และทางทิศใต้ มีวัดสำหรับพระภิกษุสามเณรอ เรียกว่า วัดธาตุหลวงเหนือ และวัดธาตุหลวงใต้
ประตูชัย หรือ ปะตูไซ (Patuxay Monument) เป็นแลนด์มาร์คที่สำคัญอีกแห่งของเวียงจันทน์ค่ะ สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2500-2511 เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานสดุดีวีรชนผู้ร่วมรบเพื่อประกาศเอกราชจากประเทศฝรั่งเศสค่ะ ปะตูไซ เป็นคำประสมมาจากคำว่า "ปะตู" หมายถึง "ประตู" และ "ไซ" มาจากภาษาสันสกฤตคำว่า "ชยะ" หมายถึง "ชนะ" นั่นเอง จะเห็นได้ว่าประตูชัยมีสถาปัตยกรรมที่สวยงาม เป็นศิลปะแบบล้านช้าง ผสมผสานอิทธิพลที่ได้รับมาจากประตูชัยในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ออกแบบโดยนายทำ ไซยะสิทธเสนา สถาปนิกชาวลาว บริเวณรอบๆ ประตูชัยจะถูกล้อมรอบด้วยสวนสวย ดอกไม้ และน้ำพุ ซึ่งในเวลาค่ำ จะมีการเปิดไฟสวยงาม และมีการโชว์น้ำพุเต้นระบำอีกด้วย
สวนพระ (Buddha Park) อีกหนึ่ง ที่เที่ยวในเวียงจันทน์ ที่สวยงามและมีมนต์ขลัง ถูกสร้างโดย ปู่บุญเหลือ สุรีรัตน์ นักวิปัสสนาชาวไทย ภายในสวยจะเต็มไปด้วยรูปปั้นต่างๆ ทั้ง พระพุทธรูป รูปเคารพ ที่ล้วนเป็นฝีมือของท่านและลูกศิษย์ค่ะ แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมและความเชื่อทางศาสนาของลาวยุคโบราณ เป็นสวนที่สร้างสรรค์ และสวยงามแปลกตา แม้ว่าจะไม่ใช่วัด แต่อุทยานนี้บางครั้งก็ถูกเรียกว่า วัดเชียงควน (Xieng Khuan) อุทยานสวนพระแห่งนี้ มีลักษณะคล้ายกันที่อุทยานที่บ้านเกิดของ ปู่บุญเหลือ สุรีรัตน์ในจังหวัดหนองคายที่สร้างขึ้นภายหลัง คือ ศาลาแก้วกู่ อีกทั้งยังมีลักษณะที่คล้ายคลึงกับ สวนแห่งโบมาร์โซ (Gardens of Bomarzo) ที่แคว้นลัตซีโย ประเทศอิตาลี อีกด้วย